งานประเพณีสงกรานต์ที่สืบทอดมาแต่โบราณ ยังคงถูกรักษาไว้
วันนี้แอดพามาชมพิธีเสียเคราะห์ วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่ง ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญที่ชาวบ้านยังยึดถือปฏิบัติ เพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ไทย
พิธีเสียเคราะห์ การเสียเคราะห์ หรือการสะเดาะเคราะห์แบบโบราณอีสานในวันสงกรานต์ที่วัดไชยศรี
ในทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปีถือเป็นวันเริ่มต้นประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านสาวะถี จึงเกิดเป็นพิธีกรรมที่วัดและชุมชนชาวสาวะถี ได้ปฏิบัติร่วมกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่ช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดี เพิ่มความเป็นสิริมงคล เสริมดวงชะตา ให้เข้าสู่ปีใหม่อย่างสดใสไร้อุปสรรค คำว่า เสียเคราะห์ จึงหมายถึง การทำให้เคราะห์ที่ไม่ดี หรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคลในชีวิตหมดหายสลายสูญไป
เครื่องสังเวย หรือ เครื่องเสียเคราะห์
การเสียเคราะห์ นั้น ให้จัดเครื่องสักการะเพื่อบูชาพระเคราะห์ ให้หายเคราะห์ สิ่งของที่ขาดไม่ได้ คือ เทียนตามแบบโบราณกำหนดและสิ่งของอื่นๆ เช่น ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวตอก ดอกไม้ ฯลฯ โดยสิ่งของทั้งหมดนี้จะนำใส่ลงในโทง 4 แจ (4 เหลี่ยม) ขนาดกว้างยาวประมาณ 1 ศอก ทำจากกาบกล้วยแล้วคั่นแยกออกเป็น 9 ช่อง ด้วยกาบกล้วย
การประกอบพิธีกรรม
เริ่มในเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี โดยชาวบ้านสาวะถีจะร่วมกันประกอบพิธีกรรมที่สิมวัดไชยศรี
วัดไชยศรี สถานที่ทำพิธี
วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นวัดเก่าแก่ที่มี “สิม” หรือ “พระอุโบสถ” อายุร้อยกว่าปีมาแล้ว ลักษณะเป็นสิมแบบพื้นบ้านอีสานที่มีจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) บอกเล่าเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของคนอีสาน และวรรณกรรมพื้นเมืองเรื่องสังข์สินไซที่งดงามมา โดยฮูปแต้มด้านในและด้านนอกพระอุโบสถ เป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก สินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) ภาพเหล่าเทพ บุคคล และสัตว์ต่างๆ วาดเต็มพื้นที่ไม่เหลือที่ว่าง เน้นสัดส่วนเกินจริง มีท่าทางโลดโผน ใช้สีฝุ่นโทนสีฟ้า ครามและขาว ซึ่งได้จากวัสดุธรรมชาติ ถึงแม้เวลาจะผ่านล่วงมากว่า ร้อยปีแล้ว และฮูปแต้มบางส่วนอาจเลือนหายไปตามกลาเวลาบ้าง แต่โดยรวมยังถือว่าฮูปแต้มวัดไชยศรียังมีความชัดเจนและสวยงามอยู่มาก ซึ่งห้ามสุภาพสตรีเข้าภายในพระอุโบสถ